อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ หรือที่เรียกสั้นๆกันว่า ปราสาทเมืองสิงห์
ปราสาทเมืองสิงห์ เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อย ตำบลเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศวรรษที่ 18 - 19 ตัวเมืองมีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ เป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่หลายชั้น
ปราสาทเมืองสิงห์ โบราณสถานในสมัยพุทธศวรรษที่ 18
ตัวปราสาทเมืองสิงห์เป็นศาสนสถานตั้งอยู่กลางเมือง สร้างขึ้นตามแบบขอม และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
อันเป็นลักษณะของการวางทิศตัวอาคารในศิลปขอม สร้างด้วยศิลาแลงบนฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร มีปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง มีระเบียงคดก่อด้วยศิลาแลง ล้อมรอบมีประตูซุ้ม ยอดเป็นปรางค์ทั้งสี่ด้าน ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปรางค์ประธานมีบรรณศาลาตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ตัวปราสาทมีกำแพงแก้วสร้างด้วยศิลาแลงล้อมรอบ จากการสันนิษฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ พอเชื่อได้ว่า ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 เป็นห้วงระยะเวลาที่อาณาจักรทวาราวดีเสื่อมอำนาจลง อิทธิพลของศิลปขอมได้แพร่ขยายเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ปัจจุบันค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก
จุดชมที่สำคัญของปราสาทเมืองสิงห์
1. โบราณสถานหมายเลขหนึ่ง
เข้าสู่ด้านหน้าของ ปราสาทเมืองสิงห์
โบราณสถานแห่งนี้ คือ หัวใจ และ ขวัญ ของเมืองสิงห์ เนื่องจากตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์ กลางของเมือง โดยเห็นได้จากประตูเมืองทั้ง 4 ทิศ มุ่งหน้าเป็นเส้นตรงเข้าสู่ตัวปราสาท ลักษณะของอาคารแต่เดิม มีการตกแต่งฉาบผิวด้วยปูนขาว และประดับด้วยลวดลายปูนนั้น ซึ่งในปัจจุบันได้กะเทาะหลุดล่วงไปจนหมดสิ้นแล้ว คงเหลือให้เห็นเพียงโครงสร้างที่ก่อด้วยศิลาแลงเท่านั้น ทางเข้าปราสาทอยู่ด้านทิศตะวันออก โดยต้องผ่านขึ้นทางพลับพลาจตุร มุขที่อยู่เบื้องหน้า จากนั้นจึงจะผ่านเข้าซุ้มประตูกำแพงแก้ว และลานกว้างซึ่งทอดยาวไปสู่ตัวปราสาท ถัดจากลานกว้างไปนี้ มีบันไดชันขึ้นตัวปราสาท โดยผ่านเข้าทางซุ้มประตู หรือที่เรียกว่า "โคปุระ" ซุ้มประตูนี้มีทั้งหมด 4 ทิศ แต่ละซุ้มเชื่อมต่อกันด้วยช่องทางเดินที่มีหลังคาคลุม เรียกว่า "ระเบียงคด" พ้นจากซุ้มประตูเข้าไป เป็นลานโล่งสำหรับประกอบพิธีกรรม
ก่อนที่จะขึ้นไปบนปรางค์ ประธานอันเป็นที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า ด้านข้างของลานประกอบพิธีกรรมนี้มีอาคาร ขนาดเล็กที่เรียกว่า "บรรณาลัย" หรือ หอไตรสำหรับเก็บคัมภีร์ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหาชน ในปรางค์ประธาน เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในภาคที่เรียกว่า "เปล่งรัศมี" (ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระโพธิสัตว์ หมายถึงผู้ที่ได้ตรัสรู้เป็นองค์ สัมมาสัมพุทธเจ้า) นอกจากนี้ที่ซุ้มประตู หรือ "โคปุระ" ด้านหลัง ยังประดิษฐานรูปเคารพของนางปรัชญาปารมิตา (เทพีแห่งความเฉลียวฉลาด ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน) อีกด้วย
2. โบราณสถานหมายเลขสอง
ลักษณะของ โบราณสถานหมายเลข 2
เป็นโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานหมายเลข 1 ซึ่งเป็นโบราณสถานหลักตัวปราสาท หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะแผนผังประกอบด้วยด้วยซุ้มประตู โคปุระ ระเบียงคด และตัวปราสาท คล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 1 แต่พังทลายมากจนทำให้แผนผังค่อนข้างสับสน จากบันไดขึ้นมาจะเป็นชาลาทอดยาวไปจนถึงบันไดซุ้มประตูหรือโคปุระหน้า ถัดไปเป็นปราสาทประธานซุ้มประตูหรือโคปุระด้านข้างและด้านหลัง ในการขุดแต่งได้พบประติมากรรมและแท่นฐานประติมากรรมวางเป็นแนวตามระเบียงคดจำนวนมาก ประติมากรรมที่พบ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา ลักษณะแบบอิทธิพลพื้นเมืองปนอยู่มาก จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างหลังโบราณสถานหมายเลข 1
3. หลุมขุดค้นโครงกระดูก
โครงกระดูกที่ถูกค้นพบ มีอายุราว 2,000 ปี
นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย ได้ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ลักษณะของศพนอนหงายเหยียดยาว ไม่มีทิศทางการฝังที่แน่นอน ภายในหลุมศพจะพบโบราณวัตถุ ซึ่งอาจหมายถึงเครื่องเซ่น หรือของใช้ของผู้ตายฝังรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เช่น ภาชนะสำริด เครื่องมือเหล็ก ภาชนะดินเผา เครื่องประดับทำจากเปลือกหอย ลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว หลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่คล้ายกันนี้มีอยู่หลายแห่งตามริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย ในเขตอำเภคไทรโยค จนถึงเขตอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณอายุได้ราว 2,000 ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าคนโบราณได้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มานานก่อนหน้าที่จะมีการสร้างปราสาทเมืองสิงห์ในพุทธศตวรรษที่ 18