สกู๊ปพิเศษ : ราชพฤกษ์ 2549 ชวนชม มหัศจรรย์พรรณไม้ทะเลทราย

ความมหัศจรรย์พรรณไม้ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ยังมีหลายส่วนที่น่าตื่นตาตื่นใจรอให้คุณได้ไปสัมผัสกับความอลังการที่แปลกและสวยงาม โดยเฉพาะไฮไลท์ส่วนการแสดงสวนพันธุ์ไม้เขตร้อนชื้นประเทศไทย

แคคตัส งานพืชสวนโลก

แคคตัส งานพืชสวนโลก

จัดแสดงพรรณไม้ทะเลทราย อาคารจัดแสดงพรรณไม้ทะเลทรายและไม้อวบน้ำเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ที่น่าสนใจ เพราะผู้ชมจะได้รับความรู้จากห้องเรียนธรรมชาติที่ให้ความรู้เรื่องของการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพแห้งแล้งได้ดี เช่น ลดใบให้เล็กลงเปลี่ยนเป็นหนาม หรือจากที่เคยผอมสูงก็จะสั้นลงและอ้วนขึ้น เพื่อการกักเก็บน้ำ

ในฐานะประธานชมรมกระบองเพชรและไม้อวบน้ำภาคเหนือ อาจารย์ทัศน์ วสุธาร บอกถึงเทคนิคการเลี้ยงดูแคคตัสไว้ว่า หากเลี้ยงไม่ดี ทอดทิ้งให้มันอยู่ในที่กลางแจ้งแดดจัด แคคตัสก็จะเปลี่ยนสี ลำต้นจากที่เคยเป็นสีเขียวก็กลับกลายเป็นสีเทาหม่น หนามไม่แข็งแรง หรือถ้านำไปเลี้ยงนอกบ้านแล้วให้ปล่อยตากแดดตากฝน ต้นก็จะไม่สวยเกิดเชื้อราและเน่าตายได้ การเลี้ยงแคคตัสให้สวยงามจึงควรเลี้ยงในโรงเรือนที่มีอุณหภูมิระหว่าง 30-40 องศาเซลเซียส ดินที่ใช้ปลูกต้องเป็นดินผสมทราย หนาประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้ระบายน้ำดีใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยธรรมชาติของแคคตัสจะอยู่ในสภาพอากาศร้อน มีลมผ่านตลอด ในอดีตแคคตัสจะมีรากแก้ว แต่เมื่ออยู่ไปนานๆ เข้า อากาศแห้งแล้งมากขึ้น รากแก้วก็จะแปรสภาพตัวเองให้เป็นรากฝอย หากินตามผิวดิน คอยดูดน้ำค้างตอนกลางคืน

แคคตัส

แคคตัส

แคคตัส (cacti) เป็นภาษากรีกโบราณ หมายถึง พันธุ์ไม้ที่มีหนาม โดย linnaeus (carl von linne’) แพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน เป็นผู้นำมาใช้เรียกไม้อวบน้ำที่มีรูปร่างแปลกๆ ไม่มีใบ มีแต่หนาม (ใบที่เปลี่ยนรูปกลายเป็นหนาม) มีถิ่นกำเนิดในภูมิประเทศแห้งแล้ง ทุรกันดาร จึงต้องปรับตัวให้สามารถเก็บออมถนอมน้ำไว้ในลำต้น ไว้ใช้ยามที่ภูมิประเทศรอบๆ ตัวขาดน้ำเป็นเวลานานได้ สังเกตได้ว่า แคคตัสมีลักษณะผิดไปจากไม้ยืนต้นพันธุ์อื่นๆ ที่มีใบและที่ใบมีปากใบ สำหรับถ่ายเทอากาศและคายน้ำออก ทำให้น้ำระเหยออกจากต้นได้เร็ว เนื่องจากแคคตัสไม่มีใบ มีแต่หนาม น้ำจึงระเหยออกไปได้ยาก แคคตัสจึงเก็บถนอมน้ำไว้ได้นานกว่าพันธุ์ไม้อื่นและเติบโตได้ดีในที่แห้งแล้ง

แคคตัส มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ทำให้สภาพดินฟ้าอากาศในภาคต่างๆ ผิดแผกกันไป แคคตัสจึงเจริญเติบโตและปรับตัวตามสภาพของดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น ในประเทศแคนาดา เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ มีผลให้แคคตัสสกุลต่างๆ มีความต้องการเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศแตกต่างกันไปบ้าง

ลักษณะเด่นของแคคตัส คือ บริเวณลำต้นจะมีตุ่มหนามหรือขนแข็งขึ้นอยู่ โดยขนแข็งดังกล่าวจะเรียงไปตามแนวซี่หรือสันสูงของต้นอย่างเป็นระเบียบ อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่เกิดตาดอกและแตกกิ่งใหม่ของต้น ดอกของแคคตัสมีสีสวยสดงดงาม ดอกจะมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกแยกกัน ส่วนรังไข่จะอยู่ต่ำกว่าส่วนอื่นๆ แคคตัสมีรูปทรงแตกต่างกันไปมากมาย เช่น ทรงกลม ทรงกระบอก มีทั้งที่ขึ้นเป็นต้นเดี่ยวๆ เป็นลำสูง และที่ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มเป็นกอ หลายขนาดหลายประเภท เช่น

แคคตัส หมวกสังฆราช

แคคตัส หมวกสังฆราช

หมวกสังฆราช เป็นแคคตัสในสกุล astrophytum ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก หมายถึง “พืชดาว” (star-plant) ต้นอ้วนกลมหรือเป็นทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางต้น 10-20 เซนติเมตร สูง 30-60 เซนติเมตร ลักษณะลำต้นเดี่ยว ในระยะแรกรูปร่างค่อนข้างกลม เมื่อโตเต็มที่จะเปลี่ยนรูปเป็นทรงกระบอก มีเหลี่ยมมีสันแหลมหรือมนตั้งแต่ 3-10 พู แต่ที่หาพบได้ง่ายคือ 4-5 พู แต่ถ้าขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มจะมีสันเพิ่มขึ้นเป็น 6-8 พู ผิวมีตั้งแต่เขียวล้วนไปจนมีจุดขาวหนาแน่น มีขนาดใหญ่เต็มที่ประมาณ 15 ซม. ลำต้นมีเกล็ดสีขาวหนาแน่น ไม่มีหนาม ยกเว้นเมื่อต้นยังมีอายุน้อย ดอกรูปกรวยสีเหลืองอ่อน บริเวณโคนกลีบดอกจะมีสีเหลืองเข้มกว่า และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-7 ซม. เกสรละเอียด มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลมีลักษณะทรงกลม เมื่อผลแก่จะปริบริเวณปลายผล แคคตัสสกุลแอสโตรไฟตั้ม มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาและตอนเหนือของประเทศเม็กซิโก ชอบแดดค่อนข้างมาก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

แคคตัส หมวกตุรกี

แคคตัส หมวกตุรกี

หมวกตุรกี เป็นแคคตัสสกุล melocactus ซึ่งมีอยู่กว่า 60 ชนิด ชื่อมาจากภาษากรีกว่า melos (melon) หมายถึงรูปทรงของต้นที่เป็นทรงกลมแป้นหรือทรงกระบอก มีทั้งขึ้นเป็นต้นเดี่ยวๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่ม เมื่อต้นเจริญเติบโตถึงระยะผลิดอกออกผลจะเกิดปุยนุ่ม เรียกว่า cephalium ที่ยอดของต้น ซึ่งดอกและผลก็จะเกิดขึ้นในบริเวณนี้ด้วย

ถ้าเป็นลำต้นเดี่ยว จะเป็นทรงกระบอกเตี้ย สีเขียวหรือสีเขียวอมฟ้า เส้นผ่าศูนย์กลางต้น 14-19 ซม. สูง 13-45 ซม. ลำต้นเป็นสันแหลม 9-10 สัน ตุ่มหนามรูปไข่ มีปุยนุ่มสีขาวปกคลุม ประกอบด้วยหนามข้าง 7-11 อัน ซึ่งมีความยาวไม่เท่ากัน โดยอันล่างจะยาวที่สุด คือยาวประมาณ 5.3 ซม. หนามกลาง 1-4 อัน ยาวน้อยกว่าหนามข้างอันล่าง หนามมีสีขาว ปลายเป็นสีน้ำตาล cephalium ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7-9 ซม. สูง 3.5-12 ซม. ลักษณะเป็นปุยสีขาวแน่น มีหนามละเอียดสั้นๆ สีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ดอก รูปทรงกระบอกขนาดเล็ก สีชมพูปนแดงเข้ม ผล รูปทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-12 ซม. ยาว 1.9-2.3 ซม. เมื่อแก่เป็นสีขาวถึงสีชมพูอ่อน เมล็ดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.9 -1.5 มิลลิเมตร ยาว 1-1.7 มิลลิเมตร ต้องการน้ำพอสมควรในช่วงฤดูร้อน และควรงดให้น้ำในช่วงฤดูหนาว ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด มีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันออกของประเทศบราซิล สามารถเจริญเติบโตได้ในหลายๆ พื้นที่ และหลายสภาพแวดล้อม เช่น หมู่เกาะเวสต์อิสดีส ทางใต้ของเม็กซิโก อเมริกาใต้

แคคตัส ตะบองพ่อเฒ่า

แคคตัส ตะบองพ่อเฒ่า

ตะบองพ่อเฒ่า เป็นแคคตัสในสกุลเซฟฟาโลซีรีอุส ซึ่งมีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก หมายถึง cephalium ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดดอก ลักษณะลำต้นเป็นลำต้นเดี่ยว หรือแตกกิ่ง 2-3 กิ่งที่โคนต้น ลำต้นทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางต้น 40 ซม. สูงได้ถึง 12 เมตร สีเขียวปนเทา เมื่อต้นอายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา ต้นอ่อนมีสัน 12 สัน หรือมากกว่า ต้นที่เจริญเต็มที่มีสัน 25-30 สัน ตุ่มหนามถี่ มีหนามบอบบาง 1-5 อัน ยาว 1-2 เซนติเมตร หนามมีลักษณะคล้ายเส้นผมสีขาว 20-30 อัน ยาว 6-12 เซนติเมตร ขึ้นพันรอบต้น หนาแน่นจนปกปิดสีที่แท้จริงของต้น หนามสีขาวหม่นออกเทาถึงสีขาวเหลือง และมักหลุดล่วงในเวลาต่อมา

ดอก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มีแถบตามยาวสีชมพูตรงกลางกลีบ ผล รูปไข่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร สีแดง เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เมล็ดมีสีน้ำตาลปนดำเป็นมัน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการตัดแยกต้น ในช่วงระยะแรกของการปลูกเลี้ยง ควรระวังเรื่องการให้น้ำ ถ้ามากเกินไปรากจะเน่าตายได้

แคคตัส แมมแม่เฒ่า

แคคตัส แมมแม่เฒ่า

แมมแม่เฒ่า เป็นแคคตัสที่สวยงามน่ารักต้นหนึ่ง เมื่อยังเล็กจะมีลักษณะหัวกลม พอต้นโตเต็มที่จะมีลำต้นสูงเล็กน้อย มีหน่อ มีลูกออกมารอบโคน จากตุ่มหนามเล็กๆ รอบๆ ต้นนั้นมีขนสีขาวงอกออกมา 20-30 เส้น  และมีหนามกลางพุ่งออกมาตรงๆ สีขาวเหมือนกัน แต่ตอนปลายเป็นสีน้ำตาล และในร่องระหว่างตุ่มหนาม มีปุยขาวลักษณะเป็นวงกลมคล้ายวงพายุเทอร์นาโดหมุนวนอยู่ (ช่วงตอนบนของลำต้น) ดอกมีสีแดงอมม่วง กว้างประมาณ 8-15 มิลลิเมตร ดอกจะออกรอบส่วนยอดคล้ายวงแหวน มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ชอบดินโปร่งๆ ชอบแดด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ข้อสังเกต แมมแม่เฒ่า นิยมเลี้ยงคู่กับ ตะบองพ่อเฒ่า หรือ old man cactus

แคคตัส เล็บเหยี่ยว

แคคตัส เล็บเหยี่ยว

เป็นแคคตัส สกุล เฟอโรแคคตัส ชื่อสกุลหมายถึง “หนามที่แข็งแรงมาก” ตุ่มหนามมีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหนามข้าง 10-20 อัน ซึ่งมีลักษณะอ้วนและแผ่กระจายไปโดยรอบ หนามกลาง 4 อัน โผล่ตั้งตรงออกมาจากตุ่มหนาม ปลายหนามกลางมีลักษณะเป็นรูปตะขอ ยาว 15 เซนติเมตร หนามข้างแข็งมาก ยาว 7.5 เซนติเมตร ลักษณะทรงกลมออกแป้นด้านบนได้ถึง 1 ฟุต 3 นิ้ว ผิวสีเขียวเทา และขึ้นนูนเป็นสัน 15-23 พู ซึ่งจะหยักตรงตำแหน่งตุ่มหนาม ซึ่งมีสีเทา และมีหนามข้างที่อยู่รอบๆ หนามกลาง 6-12 อัน จะมีสีอ่อน ส่วนที่เป็นหนามกลาง จะมีสีแดงซึ่งมีทั้งหมด 4 อัน ยาวประมาณ 1 1/3 นิ้ว โดยที่อันล่างสุดจะแบนกว้าง ปลายงอแนบกับต้นคล้ายตะขอหรือกรงเล็บเหยี่ยว

แคคตัส นิ้วนางรำ

แคคตัส นิ้วนางรำ

นิ้วนางรำ เป็นไม้ในสกุล leuchtenbergia ซึ่งมีอยู่ชนิดเดียว คือ leuchtenbergia principis สำหรับชื่อสกุล มาจากชื่อของ duke of leuchtenberg หลานของนโปเลียนโบนาปาต คำว่า “princeps” เป็นภาษาลาติน แปลว่า “เจ้า” ชื่อสามัญของไม้ต้นนี้ ในต่างประเทศ คือ อากาเว แคคตัส (agave cactus) เพราะก้านยาวที่พุ่งออกมาจากลำต้นเหมือนใบอากาเวนั้น ทำให้แคคตัสต้นนี้แลดูคล้ายกับอากาเวต้นเล็กๆ แคคตัสนิ้วนางรำ มีรูปร่างผิดแผกไปจากแคคตัสต้นอื่นทั่วๆ ไป เพราะเนินหนามนั้นแทนที่จะออกมาเป็นตุ่มเป็นเนินสูงเหมือนต้นอื่นๆ กลับเป็นก้านสามเหลี่ยมยาว และมีหนามออกมาจากตุ่มหนามตรงปลายก้านหรือเนินหนามนั้น

แคคตัส ถังทอง หรือ เก้าอี้แม่ยาย

แคคตัส ถังทอง หรือ เก้าอี้แม่ยาย

ถังทอง หรือ เก้าอี้แม่ยาย เป็นแคคตัสสกุล echinocactus มีมากกว่า 10 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก หมายถึง “เม่น” และ “หนาม” ต้นมีลักษณะเป็นทรงกลมหรือทรงกระบอก อาจขึ้นเป็นต้นเดี่ยวหรือต้นกลุ่ม ชนิดที่มีขนาดใหญ่มาก จะมีความสูงถึง 1.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ลำต้นเป็นสัน 8-50 สัน(พู) แล้วแต่ชนิด ผิวต้นมีสีเขียวถึงสีเขียวอมฟ้า เมื่ออายุยังน้อยจะมีสันน้อย และเนินหนามนูนเด่นชัด เมื่อโตเต็มที่จำนวนสันจะเพิ่มขึ้น มี 30-40 สัน สันลึก ตุ่มหนามบริเวณปลายยอดมีขนสั้นๆ สีขาวถึงสีเหลืองปกคลุม หนามข้าง 8-10 อัน สีเหลืองทอง หรือสีเหลืองอ่อน บางครั้งเป็นสีขาว หนามกลางมี 4 อัน ยาว 3-5 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายหนามข้าง

ดอกเกิดบริเวณใกล้ปลายยอด ออกดอกเป็นวงคล้ายมงกุฎ ดอกทรงระฆัง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร กลีบรวมแคบ ปลายเรียวแหลม สีเหลือง ปลายกลีบเป็นสีน้ำตาล ผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร เมล็ดสีแดงเข้มเป็นมัน ถังทอง หรือ เก้าอี้แม่ยาย มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคตะวันออกของเม็กซิโกกลาง